...

ทอนซิลอักเสบ

ทอนซิลอักเสบ

ต่อมทอนซิล(tonsils)เป็นกลุ่มของเนื้อเยื่อประเภทต่อมน้ำเหลือง มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ภายในต่อมมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิด หน้าที่หลักคือ จับและทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายทางทางเดินอาหาร หน้าที่รองลงมาคือ สร้างภูมิคุ้มกัน ต่อมทอนซิลพบได้หลายตำแหน่ง ต่อมที่เราเห็นจะอยู่ด้านข้างของช่องปาก มีชื่อเรียกว่า พาลาทีนทอนซิล (palatine tonsil)นอกจากนั้นต่อมทอนซิลยังพบได้บริเวณโคนลิ้น(lingual tonsil)และช่องหลังโพรงจมูก(adenoid tonsil)

ทอนซิลอักเสบ(tonsillitis)เป็นภาวะอักเสบของต่อมทอนซิลส่วน\"คออักเสบ\"(pharyngitis)มักใช้เรียกภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อในลำคอที่อยู่บริเวณหลังช่องปากเข้าไป บางครั้งภาวะทั้งสองอาจเกิดพร้อมกันได้ ส่วนใหญ่แล้วโรคต่อมทอนซิลพบมากที่สุดในเด็กอายุก่อน10ปี เพราะหลัง10ปีไปแล้วต่อมทอนซิลจะทำงานน้อยลงหรือไม่ทำงานเลย แต่ในผู้ใหญ่อายุน้อยกว่า 20ปี ก็ยังเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบได้ ส่วนใหญ่มักจะไม่พบทอนซิลอักเสบในคนไข้วัยกลางคนไปแล้ว ผู้ป่วยที่มีทอนซิลอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ กลืนลำบาก โดยเฉพาะ เวลากลืนอาหารจะเจ็บมาก คนไข้เด็กจะมีอาการน้ำลายไหล เพราะกลืนลำบากทำให้น้ำลายจะไหลลงไปไม่ได้ ก็จะไหลออกมา หรือคนไข้เจ็บคอมาก ๆ อาจมีอาการอาเจียนหลังจากรับประทานอาหาร เพราะการรับประทานอาหารจะรบกวนลำคอที่เจ็บอยู่

โรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย พบเชื้อรา หรือเชื้อวัณโรคได้น้อย โรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน ในเด็กก่อนวัยเรียนมักจะเกิดจากเชื้อไวรัส และติดต่อกันได้ง่าย เพราะไม่รู้จักการป้องกัน การติดต่อเกิดจากการหายใจ ไอ จาม ใช้ภาชนะที่รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำรวมกัน ส่วนโรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน ในเด็กโตและผู้ใหญ่มักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

การรักษาทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน

แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ยาลดน้ำมูก ลดไข้ ให้ยาต้านจุลชีพ หรือยาแก้อักเสบ เพื่อกำจัดเชื้อต้นเหตุถ้าการอักเสบนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ควรรับประทานยาดังกล่าวให้นานพอ 7-10 วัน ซึ่งในปัจจุบันยาในกลุ่มเพนนิซิลินยังใช้ได้ผลดี ยกเว้นเชื้อบางกลุ่มที่พบว่าดื้อยาแล้ว แพทย์จึงจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่แรงขึ้น ในรายที่มีอาการมาก ๆ เช่น เจ็บคอมากจนรับประทานอาหารไม่ได้และมีไข้สูง แพทย์อาจแนะนำให้นอนพักรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ และยาต้านจุลชีพทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะทำให้อาการทุเลาดีขึ้นเร็วกว่าการให้ยากลับไปรับประทานที่บ้าน หากแพทย์พิจารณาว่า มีสาเหตุมาจากไวรัส ก็จะให้ยาตามอาการเท่านั้น เพราะยาต้านจุลชีพ ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา การอักเสบของต่อมทอนซิล อาจจะกระจายกว้างออกไป จนเกิดเป็นหนองบริเวณรอบต่อมทอนซิล(peritonsillar abscess)แล้วอาจลุกลามผ่านช่องคอเข้าสู่ช่องปอดและหัวใจได้ นอกจากนั้น เชื้อแบคทีเรีย อาจเข้ากระแสเลือดแล้วกระจายไปทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายอย่างมาก เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส(Streptococcus)สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนของโรคหัวใจ และโรคไตได้

การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป่วยมีส่วนทำให้อาการดีขึ้นเร็ว ถ้ามีอาการเจ็บคอหรือระคายคอร่วมด้วย ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้มที่ไม่ร้อนจนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด หรือรสจัด หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้เสียงชั่วคราว ควรพยายามทำความสะอาดคอบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ด้วยการแปรงฟันหรือกลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปาก,น้ำเกลืออุ่น ๆ หรือน้ำเปล่าหลังอาหารทุกมื้อ เนื่องจากการที่ไม่รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี อาจมีเศษอาหารตกค้างในช่องปากและลำคอ ทำให้ทอนซิลอักเสบมากขึ้นได้

น้ำยาบ้วนปากจะช่วยลดปริมาณของเชื้อแบคทีเรียได้บ้าง(ชั่วคราว)ในรายที่มีการอักเสบติดเชื้อบริเวณคอ น้ำยาบ้วนปากบางชนิด อาจมีส่วนผสมของยาลดการอักเสบหรือยาชา ช่วยลดอาการเจ็บคอได้ น้ำยาบ้วนปากมีหลายชนิด ควรเลือกใช้ชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือมีน้อยที่สุด เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อเยื่อบุช่องปาก หลีกเลี่ยงน้ำยาที่มีส่วนผสมของกรด เพราะจะทำให้ผิวฟันกร่อน เคลือบฟันบางลง และเกิดอาการเสียวฟันตามมาได้ ถ้าใช้แล้วรู้สึกว่ามีอาการเจ็บคอ หรือระคายคอมากขึ้นก็ไม่ควรใช้ ก่อนใช้ต้องศึกษาส่วนผสมและวิธีใช้ข้างขวดให้ดีก่อน ให้ใช้ในปริมาณพอเหมาะ ระยะเวลานานพอควร ถ้าเป็นแบบเข้มข้น ควรเจือจางเพื่อหลีกเลี่ยงอาการแสบร้อน ระคายคอ เราสามารถทำน้ำยาบ้วนปากได้เองง่าย ๆ โดยใช้เกลือป่นประมาณครึ่ง -ช้อนชาละลายในน้ำอุ่นค่อนแก้ว ใช้บ้วนปากได้ดี ประหยัด และปลอดภัย  

หากเป็นต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันบ่อย ๆ ต่อมทอนซิลจะโตขึ้น แล้วเปลี่ยนสภาพเป็นแบบเรื้อรัง และอาจมีการอักเสบอย่างเฉียบพลันเป็น ๆ หาย ๆ ได้ การที่ต่อมทอนซิลโตจะทำให้เกิดร่องหรือซอก ซึ่งเศษอาหารอาจเข้าไปตกค้างอยู่ได้ ทำให้เกิดการอักเสบยืดเยื้อออกไป


โดยทั่วไป แพทย์จะพิจารณาตัดต่อมทอนซิล เมื่อ
            1.
เป็นภาวะต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือเกิดการอักเสบปีละหลายครั้งหลายปีติดต่อกัน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เช่น ต้องขาดงาน หรือขาดเรียนบ่อย
            2.
เมื่อต่อมทอนซิลโตมาก ๆ ทำให้เกิดอุดกั้นทางเดินหายใจ และมีอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับตามมา
            3.
ผู้ป่วยที่มีต่อมทอนซิลโต และแพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งของต่อมทอนซิลโดยตรง หรือมีมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ แล้วหาตำแหน่งมะเร็งต้นเหตุไม่เจอ แต่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งที่มาจากต่อมทอนซิล

            การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออก เป็นการกำจัดไม่ให้ต่อมทอนซิลติดเชื้อบ่อย สำหรับผู้ป่วยเด็กทางเดินหายใจก็จะโล่งขึ้นด้วย ในการตัดต่อมทอนซิลทิ้งไม่มีข้อเสีย เมื่อตัดทิ้งตามข้อบ่งชี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม ต่อมทอนซิลที่ตัดทิ้งมักจะเป็นต่อมที่ไม่ทำงานแล้ว จึงไม่ฆ่าเชื้อโรค แต่จะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคแทน เนื่องจากมีต่อมน้ำเหลืองในช่องคออีกมากมายที่ทำงานจับเชื้อโรคแทนต่อมทอนซิลได้ การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออก จึงไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือของช่องปากลดลงแต่อย่างใด.

 

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888