-
- กกก
- ระบบสมาชิก
ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)
ไส้ติ่งมีขนาดประมาณ 0.5ซม. X 5ซม. หรือขนาดอาจแตกต่างกันไป เมื่อมีอะไรก็ตามมาอุดตันในไส้ติ่งจะทำให้เกิดการอักเสบขึ้นได้ ส่วนใหญ่จะเป็นอุจจาระที่แข็งก้อนเล็ก ๆ โรคไส้ติ่งอักเสบ เป็นโรคที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน พบได้บ่อยทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โดยมีอาการดังนี้
ปวดท้อง โดยทั่วไปเริ่มแรกอาจจะปวดรอบ ๆ สะดือ ลักษณะปวดตื้อ ๆ ต่อมาย้ายมาปวดมากขึ้นที่ท้องน้อยด้านขวา แต่อาจจะมีอาการแบบอื่นได้หลากหลายไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้เสมอไป
อาการอื่น ๆ ที่อาจตรวจพบร่วมด้วยคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หรือบางรายอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย
ไข้ ในระยะเริ่มแรกอาจจะไม่มีไข้ ต่อมาเมื่อมีการอักเสบนานขึ้นก็อาจมีไข้ได้
วิธีการวินิจฉัยโดยแพทย์
การซักประวัติตรวจร่างกาย
การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด
การตรวจเพิ่มเติมทางรังสีวินิจฉัย เช่น อัลตราซาวน์(Ultrasound) เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เป็นต้น
การรักษาโดยการผ่าตัด
วิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐาน ลงแผลผ่าตัดบริเวณท้องน้อยด้านขวา
การผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้อง หลังการผ่าตัดจะมีรอยที่เกิดจากการสอดเครื่องมือ ประมาณ 3จุดเล็ก ๆ
บริเวณหน้าท้อง
ความเสี่ยงและผลข้างเคียง
ความเสี่ยงทั่วไปของการผ่าตัด
ปวดแผล แต่สามารถบรรเทาอาการได้โดยยาแก้ปวด
อาจจะเกิดการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดได้เหมือนการผ่าตัดทั่วไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ภาวะการอักเสบของไส้ติ่ง โรคประจำตัว การรับประทานยา และภาวะสุขภาพ
ภาวะแทรกซ้อนจากยาระงับความรู้สึก เช่น ในกรณีดมยาสลบ จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และระคายเคือง และเจ็บในคอจากการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือในกรณีฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง อาจมีอาการปวด มึนศีรษะหรือ อาจทำให้ปัสสาวะเองไม่ได้ ต้องสวนปัสสาวะในครั้งแรกหลังการผ่าตัด
ความเสี่ยงเฉพาะของการผ่าตัดไส้ติ่ง
1.ภาวะเลือดออก
2. ภาวะลำไส้อุดตันจากพังผืดรัดหลังการผ่าตัด
3. มีโอกาสเกิดภาวะไส้เลื่อนที่แผลผ่าตัด
4. ภาวะการติดเชื้อในช่องท้อง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับภาวะการอักเสบของไส้ติ่งว่ามีการติดเชื้อรุนแรงมากเพียงใด
ในขณะที่รับการผ่าตัด หรืออาจเกิดการอักเสบเป็นฝีในตับได้ ในกรณีที่ไส้ติ่งอักเสบรุนแรง
ความเสี่ยงดังกล่าวมีความรุนแรงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ไส้ติ่งอักเสบ โดยถ้าไส้ติ่งแตกหรือไส้ติ่งเน่า จะมีโอกาสเกิดความเสี่ยงของแผลติดเชื้อได้สูงถึง 55-60 % และหากไม่ได้รับการผ่าตัดโดยเร็วมีโอกาสเกิดเป็นฝีในท้อง (Abscess) หรือช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) ซึ่งอัตราการตายจะสูงมากขึ้น
ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัด
งดน้ำและอาหารตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งจะได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดในขณะที่ไม่ได้รับประทานอาหาร
หากมีอาการปวดแผลสามารถแจ้งเพื่อรับยาแก้ปวด และใช้มือหรือหมอนประคองแผลเวลาไอ-จาม หรือ เมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อลดการกระเทือนของแผลที่นำมาสู่อาการปวดแผล
เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ และเพื่อป้องกันภาวะพังผืดที่ลำไส้
การรับประทานอาหารตามคำแนะนำของแพทย์
ระยะพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยปกติ 2-3 วัน
สามารถปฏิบัติภาระกิจตามปกติได้หลังผ่าตัด ประมาณ 7 วัน ถ้าต้องออกแรงมากควรรอหลัง 6 สัปดาห์ หรือตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ผ่าตัด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888