...

โรคกระเพาะ (Peptic ulcer)

โรคกระเพาะ (Peptic ulcer)

โรคกระเพาะอาหาร ตามความหมายของแพทย์ หมายถึง แผลที่เกิดในกระเพาะอาหาร (Stomach) หรือลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum)

โรคนี้พบได้ประมาณ 10 % ของประชากรทั่วไป และพบได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่จะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง

แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal ulcer/DU) พบบ่อยในวัยหนุ่มสาว (อายุเฉลี่ยของผู้ที่เริ่มเป็นโรคนี้ประมาณ 30 ปีเศษ) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีการหลั่งกรดออกมาในกระเพาะอาหารมากเกิน ซึ่งจะไประคายเคืองต่อเยื่อบุผิวของลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้เกิดเป็นแผลขึ้นมา แต่สาเหตุที่ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมากกว่าปกติ ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าอาจมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์และฮอร์โมนในร่างกาย

โรคนี้พบมากในคนที่เคร่งเครียดกับการงาน รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา วิตกกังวลหรือคิดมาก

อาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น ถุงลมพอง ตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกของตับอ่อน ต่อมพาราธัยรอยด์ทำงานมากเกิน (Hyperparathyroidism)

ผู้หญิงที่เป็นโรค ระหว่างตั้งครรภ์อาการจะดีขึ้นหรือหายไปได้เอง แต่พอถึงวัยหมดประจำเดือน อาจมีอาการกำเริบรุนแรงได้ เชื่อว่าฮอร์โมนเพศอาจมีความสัมพันธ์กับโรคนี้ได้

แผลที่กระเพาะอาหาร (Gastric ulcer/GU) พบได้น้อยกว่าแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ประมาณ 4 เท่า มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป (อายุเฉลี่ยของผู้ที่เริ่มเป็นโรคนี้ประมาณ 50 ปีเศษ) พบในผู้หญิงกับผู้ชายจำนวนเท่า ๆ กัน ผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ แต่ความต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารเสื่อมลง อาจมีสาเหตุมาจาดื่มสุราจัด การรับประทานยาบางชนิด

โรคนี้มักพบในคนที่มีฐานะยากจน ขาดอาหารสุขภาพไม่สมบูรณ์ อาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคปอด โรคไต หรือโรคมะเร็ง

 

อาการ

ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง มักตรวจบริเวณใต้ลิ้นปี่ (บางคนอาจค่อนมาทางใต้ชายโครงขวาหรือซ้ายก็ได้) เวลาที่ปวดมักสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ก่อนอาหาร หรือหลังอาหาร ลักษณะการปวดอาจปวดแสบ ปวดตื้อ ปวดเสียด จุกแน่น หรือมีความรู้สึกแบบหิวข้าว อาการปวดมักจะดีขึ้นถ้ารับประทานอาหาร ดื่มนม รับประทานยาลดกรดหรืออาเจียน

นอกจากอาการปวดท้องแล้ว ยังอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือเรอเปรี้ยว

ในผู้ป่วยที่มีแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น มักมีอาการปวดหลังอาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือขณะที่ท้องว่าง โดยมากจะเริ่มปวดตอนสายๆ หลังรับประทานอาหารเช้าแล้ว (ก่อนอาหารเช้ามักไม่มีอาการปวด) จะปวดมากขึ้นในช่วงบ่าย ๆ และเย็น ๆ และอาจปวดมากตอนเที่ยงคืนถึงตี 2 จนนอนไม่หลับ ในรายที่เป็นมาก อาจปวดร้าวไปที่หลังร่วมด้วย

อาการปวดท้องมักเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ แล้วอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่มักจะกำเริบใหม่ภายในเวลา 2 ปี

ในผู้ป่วยที่มีแผลที่กระเพาะอาหาร มักมีอาการปวดท้องหลังอาหารประมาณ 30-60 นาที หรือหลังรับประทานอาหารอิ่ม มักทำให้ผู้ป่วยไม่กล้ารับประทานอาหารและทำให้น้ำหนักลด

 

อาการแสดง

ส่วนมากมักไม่พบอาการ บางคนอาจรู้สึกกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่

หากเป็นเรื้อรัง และมีเลือดออก (เลือดที่ออกในกระเพาะลำไส้ เมื่อถูกกับกรดจะเป็นสีดำ ทำให้มีอาการถ่ายอุจจาระดำ) ผู้ป่วยอาจมีอาการซีด

 

อาการแทรกซ้อน

ส่วนมากมักจะไม่มีอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น มักจะหายได้เป็นส่วนใหญ่

อาการแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น กระเพาะทะลุ กระเพาะหรือลำไส้ตีบตัน เลือดออกในกระเพาะ อาจทำให้อาเจียนเป็นเลือดสด หรือถ่ายอุจจาระดำ (ถ้าเลือดออกมาก อาจถึงช็อกได้ ถ้าออกทีละน้อย ทำให้มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก)

ในผู้ป่วยที่เป็นแผลที่กระเพาะอาหาร บางรายถ้าเป็นเรื้อรัง อาจกลายเป็นมะเร็งของกระเพาะอาหารได้

 

การรักษาและป้องกันการเป็นซ้ำ

การรักษาที่สำคัญคือการรับประทานยาตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่กระตุ้นการเกิดโรคกระเพาะอาหาร ได้แก่ รับประทานอาหารตรงเวลาโดยไม่ปล่อยให้หิว เลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด งดสูบบุหรี่ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ