Antigen Test Kit ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน คืออะไร ใช้งานยังไง
ชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน หรือชุดตรวจเร็ว Test Kit ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทคือ
- Antigen Test Kit เป็นเก็บตัวอย่างด้วยการ Swab เป็นการตรวจองค์ประกอบไวรัส โดยการเก็บตัวอย่างจากทางจมูก ลึกถึงคอหรือเก็บจากลำคอ
- Antibody Test เป็นการตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ โดยการเจาะเลือด ซึ่งจะสามารถตรวจภูมิคุ้มกันเชื้อในวันที่ 10 เป็นต้นไป จนกระทั่งหายป่วย
**แต่การตรวจ Antibody Test จะยังไม่นำมาใช้ เพราะปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ภูมิคุ้มกันอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือวัคซีนก็ได้ ซึ่งไม่สามารถแยกได้**
ใครควรใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit
- ผู้ที่สัมผัส หรือใกล้ชิดผูติดเชื้อ โควิด-19 ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ
- ผู้ที่ไม่แน่ใจว่าสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือไม่ แต่เริ่มมีอาการต้องสงสัย
เมื่อไหร่ที่ควรตรวจ Antigen Test Kit
- เพิ่งได้รับเชื้อ >> จะตรวจไม่พบในชุดตรวจ Antigen Test Kit
- หลังรับเชื้อ 3-5 วัน >> ตรวจพบเชื้อจากการตรวจ Antigen Test Kit แต่ในบางรายก็อาจจะยังไม่พบเชื้อ ต้องทำการตรวจซ้ำ
- หลังรับเชื้อ 5-14 วัน >> ตรวจพบเชื้อจากการตรวจ Antigen Test Kit
- หากหายป่วยแล้ว >>จะตรวจไม่พบในชุดตรวจ Antigen Test Kit
สิ่งที่มีในชุดตรวจ Antigen Test Kit
- ตลับทดสอบ
- ก้านสำลีสำหรับ Swab
- หลอดใส่น้ำยาสกัด หรือน้ำยาเทส
- ฝาหลอดหยด
- เอกสารกำกับชุดตรวจ
วิธีใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit
อ่านคำแนะนำ และคู่มือการใช้งานที่มากับชุด Antigen Test Kit
- เคลียร์จมูก สั่งน้ำมูก (ถ้ามี) ก่อนทำการ Swab
- ทำความสะอาดพื้นผิวที่จะวางชุดตรวจ
- ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล
- ฉีกซองไม้พันสำลีสำหรับ Swab ออกเบา ๆ ที่สำคัญ!! ห้ามเอามือไปจับบริเวณที่ต้องใช้เก็บสิ่งส่งตรวจเด็ดขาด เพราะการจับบริเวณสิ่งส่งตรวจ อาจทำให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อน เนื่องจากมีเชื้อโรคจากมือเราปนเปื้อนลงไปในก้านด้วย
**การจับไม้ Swab สามารถจับแบบจับปากกาได้ หรือจับแบบที่เราคิดว่าถนัด**
- ทำการ Swab โดยการเงยหน้าขึ้นนิดนึง เสร็จแล้วแยงเข้าไปในโพรงจมูกช้า ๆ โดยเริ่มจากข้างซ้ายก่อนก็ได้ ระยะหวังผล คือแยงเข้าไปลึกประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร หมุนเบา ๆ 5 รอบ
- เสร็จแล้ว มาแยงจมูกข้างขวา ทำเหมือนเดิม หมนุเบาๆ อีก 5 รอบ
- สิ่งสำคัญในการ Swab ห้ามแยงแรงจนเลือดออก หากเลือดออก จะไม่สามารถยืนยันผลตรวจได้ ต้องรอแผลหาย แล้วใช้ชุดเทสชุดใหม่ เพื่อเทสซ้ำอีกรอบ
- เมื่อเก็บสิ่งส่งตรวจเรียบร้อย จุ่มก้านสำลีสำหรับ Swab ลงในหลอดที่มีน้ำยาสกัด หรือน้ำยาเทส แกว่ง หรือหมุนเบา ๆ อย่างน้อย 5 รอบ พร้อมกับบีบก้นหลอด เพื่อให้เชื้อที่เราเก็บมา ให้ละลายในน้ำยาตรวจให้ทั่ว นำไม้ Swab ออก และปิดด้วยจุกฝาหลอดหยด
- หยดน้ำยาลงในตลับทดสอบ ตามจำนวนหยดที่ชุดตรวจกำหนด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อ เพราะฉะนั้นอ่านฉลากให้ดีก่อนใช้
- รออ่านผล ตามช่วงเวลาที่ชุดตรวจกำหนด โดยมาก 15-30 นาที (ห้ามอ่านผลก่อนหรือหลังเวลาที่กำหนด)
การอ่านผลและแปรผลทดสอบ Antigen Test Kit
ผลบวก ติดเชื้อโควิด-19
- ปรากฏแถบสีแดงคู่ ทั้งที่แถบทดสอบ (T) และแถบควบคุม (C) ติดเชื้อ
- เกิดแถบสีแดงที่แถบควบคุม (C) และแถบสีส้มที่แถบทดสอบ (T) ก็ยังนับว่าติดเชื้อ
- เกิดแถบสีส้มที่แถบควบคุม (C) และแถบสีแดงที่แถบทดสอบ (T) ก็ยังนับว่าติดเชื้อ
- เกิดแถบสีส้มที่แถบควบคุม (C) และแถบสีส้มที่แถบทดสอบ (T) ก็ยังนับว่าติดเชื้อ
สรุปคือ หากขึ้น 2 ขีดแสดงว่าติดเชื้อ เนื่องจากสีที่ต่างกันหรือสีเพี้ยนอาจเกิดขึ้นจากการจัดเก็บ ไม่มีผลต่อการทดสอบแต่อย่างใด
ผลลบ ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ปรากฏเฉพาะแถบควบคุม (C)
ผลที่ใช้งานไม่ได้ คือไม่ปรากฏแถบอะไรเลย แสดงว่าชุดตรวจอาจมีปัญหา แนะนำให้เทสซ้ำอีกครั้ง
ข้อแนะนำเพิ่มเติมหลังการทดสอบ Antigen Test Kit : หากพบการติดเชื้อ แนะนำให้ทำการทดสอบ RT-PCR ซ้ำเพื่อยืนยันผลอีกที เนื่องจากชุดตรวจ Antigen Test Kit เป็นการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น
ข้อควรระวัง
- ชุดตรวจที่ใช้ต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนแล้วกับ อย.
2. ตัวอย่างที่ใช้ตรวจเก็บจาก nasopharyngeal (โพรงหลังจมูก), oropharyngeal (ช่องปากและลำคอ) nasal (โพรงจมูก) หรือน้ำลายตามที่ชุดตรวจกำหนด
3. ใช้เพื่อการคัดกรองเบื้องต้นตามแนวทางที่แนะนำ ดังนี้
- ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายติดเชื้อให้พิจารณาตรวจ ด้วยวิธี RT-PCR ก่อน กรณีตรวจผู้ป่วยจำนวนมากให้พิจารณาใช้ Antigen Test Kit ถ้าให้ผลบวกให้ยืนยันด้วย RT-PCR
- ผู้สงสัยแต่ไม่มีอาการ สามารถพิจารณาตรวจเบื้องต้นด้วย Antigen Test Kit หากผลเป็นลบให้ทำการตรวจซ้ำในอีก 3-5 วัน แต่หากมีความเสี่ยงสูงให้พิจารณาตรวจด้วย RT-PCR
- กรณีที่ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ทำการตรวจด้วยตนเอง ควรเลือกชุดทดสอบที่สามารถเก็บสิ่งส่งตรวจ ด้วยตนเองได้ง่าย เช่น เก็บจากโพรงจมูกหรือน้ำลาย เมื่อมีผลบวกให้แจ้งสถานบริการที่กำหนดใกล้บ้าน เพื่อพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป
- ชุดทดสอบถูกเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ชุดทดสอบกำหนดก่อนนำมาใช้งาน
5. ควรตรวจสอบวันหมดอายุของชุดทดสอบ
6. เตรียมพื้นที่สำหรับใช้ทดสอบให้สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน
7. อย่าเปิดหรือฉีกซองที่บรรจุตลับทดสอบ จนกว่าจะเริ่มทำการทดสอบ
8. อ่านผลตามเวลาที่ชุดทดสอบกำหนด (การอ่านผลเร็วหรือช้าเกินไปอาจเกิดความผิดพลาดได้)
9. ไม่นำอุปกรณ์หรือตลับทดสอบอันเดิมมาใช้ซ้ำ
10. นำชุดทดสอบที่ทดสอบแล้วพร้อมอุปกรณ์ของชุดทดสอบที่เหลือจากการใช้งานแช่น้ำยาฆ่าเชื้อ และแยกใส่ถุงปิดให้มิดชิด และทิ้งให้เหมาะสม
11. ล้างมือให้สะอาดภายหลังทำการทดสอบ
การปฎิบัติตนหลังทราบผลทดสอบ
-กรณีผลการทดสอบให้ ผลบวก ให้แจ้งหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลใกล้บ้านที่กำหนด และแยกกักตัวเองจากผู้อื่น เพื่อลดการแพร่เชื้อ เช่น แยกห้องน้ำ ของใช้ส่วนตัว หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการหายใจลำบาก ควรติดต่อขอรับเข้าการรักษาหรือแจ้งผู้ใกล้ชิดกับตนเองให้ทราบ เพื่อลดความเสี่ยง จากการสัมผัส และควรได้รับการทดสอบการติดเชื้อต่อไป
-ส่วนกรณีผลการทดสอบให้ ผลลบ หากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง อาจอยู่ในระยะฟักตัว ควรทำการแยกตัว และทดสอบซ้ำอีกครั้งภายหลัง 3-5 วัน หรือหากมีอาการของโรคโควิด 19 ควรทำการทดสอบซ้ำทันที