ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ป็นโรคติดต่อที่เกิดการระบาดใหญ่เป็นครั้งคราว เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เชื้อไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลก โดยแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ประมาณร้อยละ 15ของประชากรทั้งหมด

            ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

            ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคติดต่อที่เกิดการระบาดใหญ่เป็นครั้งคราว เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เชื้อไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลก โดยแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ประมาณร้อยละ 15ของประชากรทั้งหมด

            ไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เอ (Influenza A virus) พบได้ประมาณร้อยละ 80 เป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่บ่อยครั้ง, ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (influenza B virus) พบบ่อยรองลงมา และไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (Influenza C virus) มีความรุนแรงน้อยไม่ค่อยมีความสำคัญ

การติดต่อ 

  1. ติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน
  2. ติดต่อผ่านการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย แล้วนำมือไปสัมผัสบริเวณใบหน้า เช่น ตา จมูก และปาก เป็นต้น

อาการที่พบ

  1. ไข้สูงเฉียบพลัน (39-40 องศาเซลเซียส)
  2. ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา
  3. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  4. อ่อนเพลียมาก
  5. อาจมีอาการคัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ น้ำมูกไหลลักษณะใส
  6. หลอดลมอักเสบ
  7. อาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้อาเจียน โดยส่วนใหญ่อาการจะหายเป็นปกติได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน

 

ภาวะแทรกซ้อน 

  1. โรคปอดอักเสบติดเชื้อ หลอดลมอักเสบ หากอาการรุนแรงมากจะเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวได้
  2. ภาวะสมดุลน้ำผิดปกติ เนื่องจากมีไข้สูง ดื่มน้ำได้น้อยลง หรือมีอาเจียน
  3. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (พบน้อย)
  4. สมองอักเสบ หรือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (พบน้อย)
  5. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืด หรือ ถุงลมในปอดโป่งพอง เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ จะทำให้อาการหอบเหนื่อยรุนแรงมากขึ้น

 

 

ผู้ป่วยกลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง ได้แก่

  • ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หรือเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี (เอดส์) มะเร็ง เอสแอลอี (โรคพุ่มพวง) เป็นต้น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่รับประทานยาแอสไพรินเป็นเวลานาน
  • หญิงที่ตั้งครรภ์ หรือ ผู้ป่วยโรคอ้วน

 

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย

  1. เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ จนอาการหายดีเอง การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาได้
  2. ในรายที่มีอาการรุนแรง หรือมีความเสี่ยงสูง อาจพิจารณาการใช้ยาต้านไวรัส
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น) รักษาร่างกายให้อบอุ่น อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท
  4. เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ
  5. ในเด็กเล็กควรเช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ เพราะไข้สูงอาจกระตุ้นให้ชักได้ วิธีการเช็ดตัวควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเช็ด ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็งเช็ดตัว
  6. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ภูมิต้านทานโรคน้อย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกันอยู่

 

อาการที่ควรรีบไปพบแพทย์

  1. ผู้ที่มีอาการรุนแรง หายใจหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก อ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ หรือมีอาการนานกว่า 7 วัน
  2. ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน หากมีอาการข้างต้น สงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ควรไปพบแพทย์
  3. หากมีอาการไข้สูงนานประมาณ 3 วัน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาการที่เป็นอยู่อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นที่คล้ายกันได้ เช่น ไข้เลือดออก

 

การป้องกันการติดเชื้อ

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก หรือขยี้ตา
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด
  4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลควรฉีดทุก 1 ปีเนื่องจากมีการเปลี่ยนสายพันธุ์บ่อย

 

ที่มา: ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ,BangkokHealth.com / https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/influenza-prevention