...

ปอดอักเสบหรือปอดบวม

ปอดอักเสบทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำงานได้ไม่ดี ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจอึดอัด หายใจลำบาก มีระดับความรุนแรงตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นหากมีอาการผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็กและรักษาตามขั้นตอน จะช่วยบรรเทาอาการให้หายได้ในเร็ววัน

ปอดอักเสบ

            ปอดอักเสบทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำงานได้ไม่ดี ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจอึดอัด หายใจลำบาก มีระดับความรุนแรงตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นหากมีอาการผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็กและรักษาตามขั้นตอน จะช่วยบรรเทาอาการให้หายได้ในเร็ววัน 

 

สาเหตุของปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบหรือโรคปอดบวมเป็นการอักเสบของเนื้อปอดและหลอดลม โดยเกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลักคือ

1) การติดเชื้อ ได้แก่

  • เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อนิวโมค็อกคัส (Pneumococcus)
  • เชื้อไวรัส ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสซาร์ส (SARS Virus)
  • อื่น ๆ ได้แก่ เชื้อรา พยาธิ ฯลฯ

2) การไม่ติดเชื้อ ได้แก่

  • สำลักเศษอาหารเข้าไปในปอด
  • หายใจเอาควัน ฝุ่น เข้าไปในร่างกายในปริมาณมาก

3) การแพ้ภูมิตัวเอง ภูมิต้านทานต่ำ ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี (SLE)
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกแฝด เด็กขาดสารอาหาร
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยเอดส์
  • ผู้ป่วยเบาหวาน
  • ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์นาน ๆ
  • ฯลฯ

ในบางกรณี ปอดอักเสบอาจเกิดจากโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ หัด อีสุกอีใส ไอกรน เป็นต้น

 

อาการปอดอักเสบ

  • ไอ
  • มีเสมหะ
  • มีไข้สูง อาจตัวร้อนตลอดเวลา หนาวสั่นมาก
  • หายใจลำบาก หายใจหอบเร็ว
  • อาจเจ็บแปลบหน้าอกเวลาหายใจเข้า
  • อาจไอแรงร้าวไปที่หัวไหล่หรือสีข้าง

ตรวจวินิจฉัยปอดอักเสบ

            การตรวจวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยจะใช้เครื่องตรวจฟังเสียงปอด หลังจากนั้นหากต้องทำการตรวจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ตรวจเสมหะ RP33 (Respiratory Pathogen Panel 33) เป็นต้น ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

รักษาปอดอักเสบ

            การรักษาโรคปอดอักเสบแพทย์จะทำการพิจารณารักษาตามอาการและสาเหตุเป็นหลัก หากเป็นปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ แพทย์จะให้รับประทานยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อที่พบและนัดติดตามอาการเป็นระยะ หากอาการไม่ดีขึ้นจำเป็นจะต้องตรวจหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ 

            นอกจากนี้หากเป็นผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เหนื่อยหอบรุนแรง เจ็บหน้าอก และรับประทานอาหารลำบากอาจต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ

 

ป้องกันปอดอักเสบ

  1. ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  2. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ(จะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจพิจารณาก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ) 

 

ข้อมูลจาก : .เกียรติคุณ นพ.สว่าง แสงหิรัญวัฒนา อำนวยการอาวุโส ศูนย์โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลกรุงเทพ / https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/pneumonia-do-not-let-severe