การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย

การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) เป็นการตรวจโดยให้ผู้รับการทดสอบทำการเดินบนสายพาน เพื่อประเมินคลื่นไฟฟ้าหัวใจ,ชีพจรและความดันโลหิต ขณะออกกำลังกายซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด,โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดได้

Exercise Stress Test

การตรวจด้วยการออกกำลัง (Exercise stress test) คืออะไร?


การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังโดยวิธีการออกกำลังกายจะมีวิธีหลักอยู่ 2 วิธี คือ การเดินสายพาน (Treadmill) และ การปั่นจักรยาน (cycling) แต่วิธีที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก คือ การเดินสายพาน (Treadmill)  ขั้นตอนการตรวจจะเริ่มจากการติดอุปกรณ์แผ่น Electrode ที่บริเวณหน้าอก แขน และขา ทั้งหมด 10 จุด เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจและอัตราการเต้นของชีพจรรวมถึงติดเครื่องวัดความดันโลหิตไว้ที่ต้นแขน โดยจะมีเจ้าหน้าที่นักเทคโนโลยีหัวใจ (Cardiology Technician) เป็นผู้ดำเนินการตรวจ สังเกตอาการ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัตราการเต้นของชีพจรและความดันโลหิตในระหว่างที่ทำการตรวจโดยอยู่ภายใต้การควบคุมของอายุรแพทย์โรคหัวใจอีกขั้นหนึ่ง ระหว่างทำการทดสอบเครื่องสายพานจะเพิ่มระดับความเร็วและความชันทุก ๆ  3 นาที (ตาม Bruce Protocol)
การเดินจะสิ้นสุดลงเมื่อผู้ตรวจพบข้อบ่งชี้ดังนี้
 

  • เดินได้ถึงอัตราชีพจรเป้าหมายที่แปรผลได้ (85% ของชีพจรสูงสุดที่เป็นไปได้ของแต่ละคน ซึ่งคำนวณได้จาก 220 – อายุ)
  • ผู้ป่วยขอหยุดเดินเองเนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถที่จะเดินต่อไปได้
  • มีอาการผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น เช่น แน่นหน้าอกหรือแน่นบริเวณกรามฟัน เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม  หอบเหนื่อยมาก
  • พบลักษณะของกราฟไฟฟ้าหัวใจที่บ่งชี้ถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง
  • ความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรงขณะที่เดินสายพาน 


การเดินสายพานจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 6 - 12 นาที และเข้าสู่ระยะพัก (Recovery Stage) อีกประมาณ 5 - 10 นาที  โดยรวมจะใช้เวลาในการตรวจทั้งสิ้นเฉลี่ยประมาณ 20 – 30 นาทีต่อท่าน

การตรวจด้วยวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ทราบถึงสาเหตุเบื้องต้นของอาการเจ็บหน้าอก ช่วยประเมินความแข็งแรงของหัวใจและร่างกายขณะออกกำลัง รวมไปถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และความดันโลหิตตอบสนองต่อการออกกำลังกาย 

 

ประโยชน์ที่ได้จากการทำ Exercise Stress Test คืออะไร?

 
Exercise Stress Test มีประโยชน์ในแง่ต่าง ๆ ดังนี้
 

  • ใช้สำหรับการวินิจฉัยแยกโรคผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอกว่ามีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่
  • ใช้สำหรับประเมินความเสี่ยงว่าผู้ป่วยจะมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคระดับปานกลางขึ้นไป
  • ใช้สำหรับประเมินผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่เดิมว่ามีความจำเป็นจะต้องรับการตรวจเพิ่มเติมหรือทำการรักษาด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
  • ใช้ประเมินประสิทธิภาพและผลในการรักษาด้วยยาในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่เดิม
  • ใช้ในการประเมินและวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด
  • ใช้ประเมินประสิทธิภาพความสามารถสูงสุดของร่างกายและหัวใจในการออกกำลังกาย
  • ใช้ประเมินระดับความสามารถสูงสุดในการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

 

การเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนทำ Exercise Stress Test รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน

 

  • งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ก่อนเริ่มทำการทดสอบ
  • งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เนื่องจากคาเฟอีนอาจรบกวนการแปรผลการทดสอบ
  • ในผู้ป่วยที่มียาประจำรับประทานอยู่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนล่วงหน้า เพื่อให้แพทย์ได้พิจารณาและให้คำแนะนำ หากมียาตัวใดที่มีผลรบกวนต่อการตรวจ (โดยเฉพาะยาโรคหัวใจและยาในกลุ่มลดความดันโลหิตสูง) 
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดและอยู่ในระหว่างรักษาด้วยยาพ่นให้นำยามาด้วยในวันที่ทำการตรวจ
  • สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ทำการตรวจควรแจ้งแพทย์ที่ทำการดูแลรักษาเรื่องเบาหวานทราบ เพื่อเตรียมตัวเรื่องยาเบาหวานให้เหมาะสมในวันที่จะทำการตรวจ

 

 

ความเสี่ยงจากการทำ Exercise Stress Test มีอะไรบ้าง

 

  • สำหรับผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นหน้าอกหรือหอบเหนื่อยง่าย
  • อาการเมื่อยล้าบริเวณต้นขาหรือบริเวณน่องซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยและแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าลักษณะอาการปวดที่ขานี้จะเกี่ยวเนื่องกับภาวะหลอดเลือดแดงที่ขาตีบหรือไม่
  • ความดันโลหิตต่ำลงระหว่าง Exercise ซึ่งอาจจะพบได้ประมาณ 1 - 5% ความดันโลหิตที่ลดต่ำลงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะได้ ซึ่งผู้รับการตรวจควรจะรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมีอาการดังกล่าว โดยปกติระหว่างที่เราออกกำลังกาย ความดันโลหิตตัวบน (ความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว) จะต้องเพิ่มขึ้นตามระดับการออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้น หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอกร่วมกับความดันโลหิตลดต่ำลงระหว่างออกกำลังกายและมีกราฟไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติระหว่างออกกำลังกายจะเป็นตัวพยากรณ์ที่ดีถึงการที่ผู้ป่วยมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่อันตรายอยู่
  • ความเสี่ยงอี่น ๆ ที่พบได้น้อยมาก (< 1%) ได้แก่ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน


โดยระหว่างที่ทำการทดสอบจะมีนักเทคโนโลยีหัวใจ (Cardiology Technician) และอายุรแพทย์โรคหัวใจ (Cardiologist) คอยสังเกตการณ์และเฝ้าระวังถึงอาการผิดปกติต่าง ๆ ลักษณะของกราฟไฟฟ้าหัวใจหรือความดันเลือดที่ผิดปกติไป  และจะมีการแจ้งให้อายุรแพทย์โรคหัวใจที่รับผิดชอบในการตรวจทราบทันที เพื่อป้องกันความเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าความเสี่ยงที่รุนแรงและอันตรายจากการตรวจจะพบได้น้อยมาก ทางโรงพยาบาลยังได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านอุปกรณ์และยาที่ได้ตามมาตรฐาน Standby ไว้ที่บริเวณห้องตรวจ หากกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นจริงก็สามารถที่จะให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที

 

การแปรผล Exercise Stress Test 


อายุรแพทย์โรคหัวใจจะเป็นผู้แปรผลการตรวจ Exercise Stress Test โดยการแปรผลจะประเมินจากระยะเวลาในการเดินสายพาน อาการแน่นหน้าอก การเปลี่ยนแปลงของกราฟไฟฟ้าหัวใจ การเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตขณะออกกำลังกายและขณะพัก ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้จะนำไปพิจารณาร่วมกับระดับความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ผู้ป่วยมีอยู่เดิม เพื่อทำการวิเคราะห์ถึงโอกาสในการมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบของผู้ป่วย ซึ่งผลสามารถแจ้งให้ผู้ป่วยทราบได้ภายในวันที่ทำการตรวจ เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ทราบถึงแนวทางการรักษาต่อไป

ขอขอบคุณบทความจาก : โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ